การรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
นพ.ศุภวัทน์ ตันติถาวรวัฒน์
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นวิธีรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง โดยจะผ่าตัดนำผิวกระดูกที่เสียหายออก แล้วแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียมที่ผลิตจากโลหะและวัสดุพิเศษ เช่น ไทเทเนียม โคบอลต์โครเมียม เซรามิก หรือพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อช่วยลดอาการปวด แก้ไขการผิดรูปของข้อเข่า เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ประโยชน์ของการผ่าตัด
• ลดอาการปวดข้อเข่า
• แก้ไขข้อเข่าผิดรูป ช่วยให้เดินได้ดีขึ้น
• เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเข่าให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้น
• ป้องกันการลุกลามไปยังข้ออื่นๆ
• ช่วยให้ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้สะดวกยิ่งขึ้น
1. ด้านสุขภาพร่างกาย
• ตรวจสุขภาพทั่วไป: เข้ารับการตรวจร่างกาย เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อประเมินความพร้อมก่อนการผ่าตัด
• จัดการโรคประจำตัว: ควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
• งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์: หยุดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2 เดือนก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
• ดูแลสุขอนามัย: รักษาความสะอาดของร่างกาย ปาก ฟัน และอวัยวะสืบพันธุ์ หากมีฟันผุหรือการติดเชื้อ ควรรักษาให้เรียบร้อยก่อนการผ่าตัด
• งดโกนขนบริเวณขา: หลีกเลี่ยงการโกนขนบริเวณขาทั้งสองข้างเป็นเวลา 5 วันก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
• ควบคุมน้ำหนัก: รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อลดภาระต่อข้อเข่า
2. ด้านการจัดบ้านและสิ่งแวดล้อม
• ปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน: จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางเดิน เพื่อลดความเสี่ยงในการหกล้ม
• จัดห้องนอนชั้นล่าง: หากเป็นไปได้ ควรนอนพักฟื้นในห้องชั้นล่าง เพื่อลดการขึ้นลงบันไดในช่วงแรกหลังการผ่าตัด
• ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ: เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานห้องน้ำ โดยติดตั้งราวจับและใช้โถส้วมแบบชักโครก
• เพิ่มแสงสว่าง: ให้บ้านมีแสงสว่างเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
• เตรียมเก้าอี้ที่เหมาะสม: ใช้เก้าอี้ที่มีความสูงพอเหมาะและมีที่เท้าแขน เพื่อความสะดวกในการลุกนั่ง
3. การจัดเตรียมสิ่งของ
• เอกสารทางการแพทย์: นำผลการตรวจร่างกาย ผลตรวจเลือด และฟิล์มเอกซเรย์ข้อเข่าจากโรงพยาบาลอื่น (ถ้ามี) ที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน
• ยาประจำตัว: นำยาที่รับประทานประจำ พร้อมฉลากที่ระบุชื่อและขนาดยามาด้วย
• อุปกรณ์ช่วยเหลือ: หากมีเครื่องช่วยพยุงเดิน (Walker) หรือเจลประคบเย็น ควรนำมาด้วย เพื่อใช้ในการฟื้นฟูหลังการผ่าตัด
• ของใช้ส่วนตัว: แว่นตา ฟันปลอม หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น
4. การออกกำลังกายเตรียมกล้ามเนื้อ
• บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า: ฝึกท่าบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การเหยียดเข่า การยกขาตรง การงอเข่า โดยทำสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
• การออกกำลังกายเบา ๆ: เช่น การเดินในระยะสั้น ๆ เพื่อรักษาความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
2 เดือนก่อนผ่าตัด
พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินสุขภาพร่างกายและควบคุมโรคประจำตัว
รักษาปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน ป้องกันการติดเชื้อ
งดสูบบุหรี่และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
1 เดือนก่อนผ่าตัด
ตรวจสุขภาพร่างกายโดยละเอียด (เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์)
เริ่มบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและข้อเข่าเป็นประจำ
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา หรือหยุดยาที่อาจมีผลต่อการผ่าตัด
2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
จัดเตรียมสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม เช่น ติดตั้งราวจับห้องน้ำ จัดห้องพักฟื้นชั้นล่าง จัดพื้นที่ให้มีแสงสว่างเพียงพอ
เตรียมอุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า หรือ Walker ไว้ล่วงหน้า
1 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
หยุดยาละลายลิ่มเลือดและยาอื่นๆที่มีผลต่อการผ่าตัด 5-7 วันก่อนผ่าตัด ตามคำแนะนำของแพทย์
ตรวจสอบเอกสารที่จำเป็น เช่น ผลการตรวจเลือด เอกซเรย์ ข้อมูลยาประจำตัว
เตรียมเจลประคบเย็นสำหรับใช้หลังผ่าตัด
จัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้าสบายๆ แว่นตา ฟันปลอม (หากมี)
1 วันก่อนผ่าตัด
มานอนโรงพยาบาล
ทำความสะอาดร่างกาย งดทาเล็บ งดเครื่องสำอาง
งดน้ำและอาหารตามเวลาที่แพทย์กำหนด (ประมาณ 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด)
พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมใจให้ผ่อนคลาย
นำเอกสารและผลตรวจต่างๆ มาโรงพยาบาล
นำยาประจำตัวมาให้แพทย์ตรวจสอบ
แจ้งอาการผิดปกติให้แพทย์ทราบทันที (ถ้ามี)
การเตรียมตัวล่วงหน้าตามช่วงเวลาเหล่านี้จะช่วยให้การผ่าตัดราบรื่น และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ในวันผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะนำท่านไปเตรียมตัวที่ห้องผ่าตัดล่วงหน้าประมาณ 30-60นาที
ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีหลักดังนี้:
1. การเปิดแผลผ่าตัด: แพทย์จะเปิดแผลบริเวณหัวเข่าประมาณ 8-10 เซนติเมตร เพื่อเข้าถึงข้อเข่า
2. การนำผิวกระดูกที่เสื่อมออก: แพทย์จะนำผิวกระดูกส่วนต้นขาออกประมาณ 9-10 มิลลิเมตร ส่วนหน้าแข้งออกประมาณ 5-10 มิลลิเมตร และผิวกระดูกสะบ้าออกประมาณ 8 มิลลิเมตร (หากจำเป็น)
3. การปรับสมดุลเนื้อเยื่อรอบข้อเข่า: เพื่อให้ขามีรูปร่างปกติและไม่โก่งผิดรูป แพทย์จะปรับความตึงหรือหย่อนของเนื้อเยื่อรอบข้อเข่า
4. การติดตั้งข้อเข่าเทียม: แพทย์จะวางข้อเข่าเทียมในตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ป่วยเดินได้ดีและข้อเข่าเทียมมีความทนทาน
ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1-2 ชั่งโมง หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะถูกนำไปยังห้องพักฟื้น มีการตรวจเช็กสัญญาณชีพและอาการต่าง ๆ โดยแพทย์และพยาบาล เพื่อให้แน่ใจว่าการฟื้นตัวเป็นไปอย่างปลอดภัย
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ใช้เวลานอนโรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน
การพักฟื้นและการดูแลหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยสามารถแบ่งการดูแลในแต่ละวันได้ดังนี้:
24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด:
1. การนอนขาตรง: ผู้ป่วยควรนอนเหยียดขาตรง โดยอาจใช้หมอนรองใต้ส้นเท้า เพื่อป้องกันการงอเข่า
2. การประคบเย็น: ประคบเย็นบริเวณแผลผ่าตัดด้วยแผ่นเจลเย็น เพื่อลดอาการบวม
3. การบริหารกล้ามเนื้อ: เริ่มฝึกการเคลื่อนไหวข้อเท้าและกล้ามเนื้อขาเบา ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
วันที่ 1-2 หลังผ่าตัด:
1. การทำกายภาพบำบัด: นักกายภาพบำบัดจะช่วยฝึกการงอและเหยียดเข่า รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้อขา เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่น
2. การฝึกยืนและเดิน: หากผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดี จะได้รับการฝึกยืนลงน้ำหนักและหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน (Walker) ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด
3. การประคบเย็นต่อเนื่อง: ยังคงประคบเย็นบริเวณแผลผ่าตัด เพื่อลดอาการบวมและอักเสบ
วันที่ 3-5 หลังผ่าตัด:
1. การฝึกเดินเพิ่มเติม: ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกเดินในระยะทางที่เพิ่มขึ้น และฝึกขึ้น-ลงบันได เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับบ้าน
2. การดูแลแผลผ่าตัด: แพทย์จะตรวจสอบแผลผ่าตัดและเปลี่ยนผ้าปิดแผล หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจได้รับการเปลี่ยนเป็นพลาสเตอร์กันน้ำ เพื่อให้สามารถอาบน้ำได้สะดวกขึ้น
3. การเตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน: หากผู้ป่วยสามารถเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินได้คล่อง ไม่มีอาการแทรกซ้อน และสามารถช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันได้ แพทย์จะพิจารณาอนุญาตให้กลับบ้านได้
การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด จะช่วยให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
ด้านการดูแลแผลผ่าตัด:
1. รักษาแผลให้แห้งและสะอาด
o หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ จนกว่าแพทย์จะอนุญาต (ปกติประมาณ 7-14 วัน)
o ทำความสะอาดแผลตามคำแนะนำของแพทย์ โดยปกติไม่ต้องเปิดทำแผล เป็นไหมละลาย ไม่ต้องตัดไหม
2. สังเกตอาการผิดปกติที่แผล
o หากแผลมีอาการบวม แดง อักเสบ มีน้ำเหลืองหรือหนอง ต้องรีบพบแพทย์ทันที
ด้านกิจวัตรประจำวัน:
3. การเคลื่อนไหวและเดิน
o ฝึกเดินอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ไม้ค้ำยันหรือ Walker ตามที่แพทย์แนะนำ
o หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนในท่าเดียวนานๆ (ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง)
4. หลีกเลี่ยงการงอเข่ามากเกินไป
o ห้ามนั่งพับเพียบ นั่งยองๆ หรือนั่งไขว่ห้าง อย่างน้อยในช่วง 3 เดือนแรก
ด้านการบริหารร่างกายและกายภาพบำบัด:
5. บริหารข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ
o ทำตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า
o ออกกำลังกายแบบเบาๆ สม่ำเสมอ เช่น เหยียดเข่า งอเข่า ยกขาขึ้นลงช้าๆ
6. ประคบเย็นเมื่อมีอาการปวดหรือบวม
o ใช้แผ่นเจลเย็นหรือถุงน้ำแข็งห่อผ้า ประคบครั้งละ 15-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง
ด้านการรับประทานยา:
7. รับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง
o โดยเฉพาะยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบตามเวลา เพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบ
ด้านการป้องกันภาวะแทรกซ้อน:
8. ระวังการติดเชื้อ
o ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสแผล
o หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดหรือที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง
9. ระวังการหกล้ม
o ปรับสภาพบ้านให้ปลอดภัย เช่น เพิ่มแสงสว่าง ราวจับในห้องน้ำ หลีกเลี่ยงพื้นที่ลื่นหรือขรุขระ
10.ควบคุมน้ำหนัก
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และควบคุมน้ำหนัก เพื่อช่วยลดแรงกดที่ข้อเข่า
ด้านการติดตามผล:
11.ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
ตรวจสอบการทำงานของข้อเข่าและการฟื้นตัว เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน
การปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วยิ่งขึ้น
นพ.ศุภวัทน์ ตันติถาวรวัฒน์